คุณภาพน้ำที่แย่ลง ทำลายทั้งสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และเศรษฐกิจครับ คุณเดวิด มัลพาส ประธานธนาคารโลกเคยเตือนเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจว่า “คุณภาพน้ำที่เสื่อมลง กำลังขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความยากจนรุนแรงขึ้นในหลายๆประเทศ”
นอกจากนี้ยังมีผลกระทบด้านอื่นๆที่เราอาจคาดไม่ถึง ได้แก่
- การปนเปื้อนในแหล่งน้ำดื่ม
ข้อกังวลหลักที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางน้ำคือ “การปนเปื้อนในแหล่งน้ำดื่ม” แหล่งน้ำมักปนเปื้อนด้วยมลพิษ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส และสารเคมี
สารที่เป็นอันตรายเหล่านี้ ทำให้น้ำไม่ปลอดภัยต่อการบริโภคของมนุษย์ การปนเปื้อนเกิดขึ้นได้จากหลายช่องทาง เช่น การปล่อยของเสียทางอุตสาหกรรม การไหลบ่าทางการเกษตร และการกำจัดของเสียที่ไม่เหมาะสมครับ
- สุขภาพของมนุษย์แย่ลง เจอโรคและความเจ็บป่วย
มลพิษทางน้ำมีผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพของมนุษย์ นำไปสู่โรคและความเจ็บป่วยต่างๆ เนื่องจากแหล่งน้ำที่ปนเปื้อนมีสารเคมี แบคทีเรีย และเชื้อโรคที่เป็นอันตราย อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงร้ายแรงต่อคนที่ใช้น้ำ หรือสัมผัสกับน้ำที่ปนเปื้อน
การว่ายน้ำในน้ำสกปรกก็น่าเป็นห่วงครับ ดังนั้นการที่มนุษย์เราต้องสัมผัสกับน้ำปนเปื้อน จะทำให้มีปัญหาสุขภาพหลายอย่าง มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาระบบทางเดินอาหาร ปัญหาระบบทางเดินหายใจ การติดเชื้อที่ผิวหนัง และแม้แต่โรคที่อันตรายถึงชีวิตด้วยครับ
- เชื้อโรคและการติดเชื้อทางน้ำ
บางภูมิภาคมีสุขอนามัยไม่เพียงพอ การเข้าถึงน้ำสะอาดมีจำกัด โดยเชื้อโรค แบคทีเรีย ไวรัส และปรสิต เจริญเติบโตได้ในน้ำที่ปนเปื้อน เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ เช่น อหิวาตกโรค โรคบิด ไทฟอยด์ ตับอักเสบ อาจมีอาการปวดทรมานที่ทางเดินอาหารอย่างรุนแรง เกิดภาวะขาดน้ำ ถึงขั้นเสียชีวิตได้
ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยที่สุดจากมลพิษทางน้ำ คือ ปัญหาระบบทางเดินอาหาร เพราะน้ำที่ปนเปื้อนมักมีแบคทีเรียที่อันตราย เช่น อี.โค ไล, ซัลโมเนลลา อาจทำให้เกิดอาการท้องร่วง อาเจียน ปวดท้องอย่างรุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและผู้สูงอายุ อาจเจอโรคแทรกซ้อนอื่นๆเพิ่มอีก
แม้แต่ปัญหาระบบทางเดินหายใจก็สามารถเกิดขึ้นได้จากมลพิษทางน้ำ เพราะสารเคมีสามารถระเหยสู่อากาศได้ เช่น โลหะหนักและยาฆ่าแมลง เมื่อสูดดมเข้าไปจะเกิดการระคายเคืองต่อทางเดินหายใจจนพัฒนาเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคหอบหืด ดังนั้นใครที่อาศัยอยู่ใกล้เขตอุตสาหกรรม หรือในชุมชนที่มีน้ำเสียต้องระมัดระวังเป็นพิเศษครับ
นอกจากนี้เรายังสามารถติดเชื้อทางผิวหนังจากมลพิษทางน้ำได้ หากเราสัมผัสกับน้ำเสียโดยตรง ขณะว่ายน้ำ หรืออาบน้ำ จะมีความเสี่ยงติดเชื้อที่ผิวหนัง เช่น ผิวหนังอักเสบ ผื่นขึ้น ทำให้ไม่สบายตัว
- กระทบต่อสุขภาพในระยะยาว
การสัมผัสกับมลพิษทางน้ำ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพเรื้อรังในระยะยาวได้ เพราะสารปนเปื้อน เช่น โลหะหนัก ยาฆ่าแมลง สารเคมีทางอุตสาหกรรม จะสะสมในร่างกาย เมื่อเวลาผ่านไปก็นำไปสู่โรคร้ายแรงต่างๆ เช่น มะเร็ง ความผิดปกติทางระบบประสาท ปัญหาการสืบพันธุ์ และความผิดปกติของพัฒนาการ
- การทำลายระบบนิเวศ
มลพิษทางน้ำจะรบกวนแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์หลายชนิด ทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุล เพราะสร้างความเสียหายต่อชีวิตพืชและสัตว์ สารเคมีและสารพิษทำให้สิ่งมีชีวิตในน้ำเอาตัวรอดได้ยาก พืชน้ำถูกทำลาย พืชที่อาศัยน้ำสะอาดในการดำรงชีวิตก็เจริญเติบโตไม่ได้ในสภาพแวดล้อมที่มีพิษ
โดยพืชน้ำมีความสำคัญในการกรองมลพิษและสร้างออกซิเจนให้สัตว์อื่นๆ ถ้าไม่มีพื้ชน้ำ แหล่งน้ำจะสกปรก ขาดอากาศ นำไปสู่ความเสื่อมโทรมทางระบบนิเวศ
นอกจากนี้มลพิษทางน้ำยังส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล เช่น ปลา เต่า โลมา เนื่องจากสารเคมีเป็นพิษอยู่ในน้ำ สิ่งเหล่านี้ทำให้ปลาตายเป็นจำนวนมาก เกิดการเสียสมดุลระหว่างผู้ล่ากับเหยื่อ กระทบกับระบบนิเวศทางทะเลในระยะยาว
- เศรษฐกิจ การท่องเที่ยวและนันทนาการ
มลพิษทางน้ำมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและนันทนาการ และต้องมีต้นทุนในการบำบัด ฟื้นฟูสภาพน้ำด้วยครับ เพราะนักท่องเที่ยวมักจะชอบไปชายหาด ทะเล และแม่น้ำเพื่อทำกิจกรรมสันทนาการ เช่น ว่ายน้ำ พายเรือ ตกปลา
แต่เมื่อแหล่งน้ำมีมลพิษ จำนวนนักท่องเที่ยวก็ต้องลดลงครับ ทำให้ธุรกิจอื่นๆที่รองรับนักเที่ยว ได้แก่ โรงแรม ร้านอาหาร คาเฟ่ขาดลูกค้า กระทบกับรายได้ บางที่อาจต้องปิดตัวลง
นอกจากนี้ยังส่งผลกับชื่อเสียงของสถานที่ท่องเที่ยวด้วย หากทุกคนรู้ข่าวว่าแหล่งน้ำที่นี่มีการปนเปื้อน ทำให้นักท่องเที่ยวไม่อยากมาอีก
- อุตสาหกรรมการเกษตรและการประมง
เมื่อแหล่งน้ำปนเปื้อนด้วยสารพิษ เช่น ยาฆ่าแมลง อาจกระทบต่อผลผลิตทางเกษตรได้ ทำให้เกษตรกรได้รับความเสียหาย
เพราะพืชมีคุณภาพต่ำ เจริญเติบโตไม่ได้ เนื่องจากน้ำที่ใช้เพื่อการชลประทานมีการปนเปื้อน ผลผลิตจึงลดลง ก่อให้เกิดการเพิ่มต้นทุนกับเกษตรกรที่ต้องลงทุนในแหล่งน้ำทางเลือก หรือระบบบำบัดครับ
อุตสาหกรรมประมง เมื่อน้ำมีมลพิษ ปลาที่จับได้ก็มีโอกาสปนเปื้อนสูง นอกจากนี้ยังส่งผลต่อจำนวนปลา ยิ่งมีปลาน้อยลง อาหารก็น้อยลง ชาวประมงที่พึ่งพาการจับปลาเป็นแหล่งรายได้ก็ประสบปัญหา เพราะปริมาณปลาที่ลดลงส่งผลให้สูญเสียงานและรายได้ในการดำรงชีพ